คู่มือสำหรับปัญหาผมร่วง
ผู้ชายมากกว่า 80% และผู้หญิงมากกว่า 25% ประสบปัญหาผมร่วง โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากโรคผมร่วงจากพันธุกรรมฮอร์โมนหรือโรคผมร่วงที่มีรูปแบบเฉพาะ ในบทความนี้จะกล่าวถึงสาเหตุและวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคผมร่วงจากพันธุกรรมฮอร์โมนเป็นหลัก
โรคผมร่วงคืออะไร ?
คนส่วนใหญ่จะมีปัญหาผมร่วงในช่วงหนึ่งของชีวิต โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือโรคผมร่วงจากพันธุกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะ หรือที่เรียกว่า Androgenetic Alopecia ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อเส้นขนทั่วร่างกาย หรืออาจส่งผลต่อเส้นผมบนศีรษะเท่านั้น
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากผมร่วงมากที่สุดคือผู้สูงอายุ โดยปกติแล้วเส้นผมของมนุษย์จะร่วงวันละ 50-100 เส้น ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่เป็นปัญหา เนื่องจากบนศีรษะของเรานั้นมีเส้นผมอยู่มากกว่าหนึ่งแสนเส้น
โดยปกติผมจะงอกขึ้นใหม่เพื่อทดแทนผมที่หลุดร่วงไป แต่ก็ไม่เสมอไป โรคผมร่วงอาจใช้ระยะเวลาแตกต่างกัน โดยอาจเกิดขึ้นอย่างกระทันหันหรือลุกลามอย่างช้าๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป
การเจริญเติบโตของเส้นผมแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะการเจริญเติบโต (Anagen phase) ระยะการเปลี่ยนแปลง (Catagen phase) และระยะพักหรือการหลุดร่วง (Telogen phase)
ระยะการเจริญเติบโตประกอบด้วยเส้นผมประมาณ 85% ของเส้นผมทั้งหมดบนศีรษะ ระยะนี้กินเวลาประมาณ 2-6 ปีและเป็นช่วงเวลาที่ผมงอก ยาวขึ้น และหนาขึ้นมากที่สุด
ผมจะเข้าสู่ “กระบวนการสร้างใหม่” เมื่ออยู่ในระยะเปลี่ยนแปลง โดยในระยะนี้ การแบ่งตัวของเซลล์จะหยุดลงและรากผมจะไม่ได้รับสารอาหารอีกต่อไป จึงเริ่มหดตัว ระยะนี้มักใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ และสิ้นสุดเมื่อเกิดเคราตินที่รากผม และที่จะเข้าสู่ระยะสุดท้าย ซึ่งก็คือ ระยะหลุดร่วง โดยในระยะนี้ กระบวนการเมตาบอลิซึมของรากผมจะหยุดลง ทำให้เส้นผมตายและหลุดร่วงในที่สุด
กระบวนการนี้จะส่งผลกระทบเส้นผมประมาณ 8% ถึง 14% ของเส้นผมทั้งหมดบนศีรษะเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน จนกว่าจะมีการสร้างผมใหม่ จากนั้นเส้นผมจะหลุดร่วงเพราะผมที่งอกใหม่จะผลัดผมเก่าออกจากรูขุมขน และจะเริ่มเข้าสู่วงจรชีวิตของเส้นผมอีกครั้ง โดยเริ่มจากระยะการเจริญเติบโต
สาเหตุของผมร่วง
โรคผมร่วงจากพันธุกรรมในผู้ชาย
โรคผมร่วงจากพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า Androgenetic Alopecia และโรคผมร่วงที่มีรูปแบบเฉพาะในผู้ชาย เป็นหนึ่งในปัญหาผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ชาย และมักเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาผมร่วงจะเพิ่มขึ้นไปตามอายุ โดยเมื่ออายุ 70 ผู้ชายเกือบ 80% จะประสบกับปัญหานี้ และสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมทั้งจากฝ่ายพ่อและแม่ ผมร่วงแบบนี้อาจเริ่มจากการบางลงของผมบริเวณหน้าผากและการถอยร่นของแนวไรผม โดยแนวไรผมจะค่อยๆ ถอยร่น จนกลายเป็นบริเวณขนาดใหญ่ที่ด้านใดด้านหนึ่งของหน้าผาก
ในระหว่างการลุกลามของโรค เส้นผมที่ด้านหลังของศีรษะ (กระหม่อม) จะบางลงจนสังเกตเห็นได้ชัด และบริเวณที่ได้รับผลกระทบจาค่อยๆ ขยายตัวออกไปในช่วงเวลาหลายปี นอกจากนี้ ยังอาจเกิดหย่อมหรือจุดที่ล้าน-เถิกบนกระหม่อม ซึ่งระดับความรุนแรงของปัญหาผมร่วงจากพันธุกรรมในผู้ชายนั้นจะระบุด้วยสเกลนอร์วูด และจากการศึกษาการปลูกผมในประเทศต่างๆ พบว่าผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่มีระดับความรุนแรงของปัญหาผมร่วงในระดับปานกลาง (NW4) เมื่อเข้ารับการปลูกผม
หนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือภาวะภูมิไวเกินไปของรากผม ซึ่งจะทำให้รากผมมีการตอบสนองแบบไวเกินต่อผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการสลายตัวของฮอร์โมนเพศชายตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า DHT (Dihydrotestosterone)
โรคผมร่วงจากพันธุกรรมในผู้หญิง
โรคผมร่วงจากพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า Androgenetic Alopecia นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงเช่นกัน แม้ว่าผู้หญิงจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า แต่อาการผมร่วงแบบนี้ก็สามารถพบได้ทั่วไป ซึ่งมักจะเริ่มจากการบางและการหลุดร่วงของผมบริเวณกระหม่อม
โรคผมร่วงแต่กำเนิดในผู้หญิงอาจเริ่มขึ้นตั้งแต่อายุ 30 ขึ้นไป แต่มักจะสังเกตเห็นการบางลงของผมได้มากในช่วงวัยหมดประจำเดือน โดยรากผมจะไวและมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นระหว่างวัยหมดประจำเดือน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแสกกลาง ซึ่งจะเริ่มมองเห็นหนังศีรษะได้ชัดเจนขึ้น แต่อาการศีรษะล้านทั้งศีรษะเป็นสิ่งที่พบได้ยากมากในผู้หญิง แต่น่าเสียดายที่วิธีการรักษาที่ใช้กันโดยทั่วไป เช่น แชมพูหรือการเปลี่ยนอาหารนั้นไม่สามารถรักษาโรคผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรมได้
โรคผมร่วงเป็นหย่อม
โรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือที่เรียกว่า Alopecia Areata เป็นหนึ่งในโรคผมร่วงที่เกิดจากการอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด โรคผมร่วงแบบนี้มักเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ และเกิดขึ้นพร้อมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดหรือคันที่บริเวณที่ได้รับผลกระทบ
โดยกลไกการเกิดโรคยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของโรคผมร่วงเป็นหย่อม แต่โรคนี้ไม่เกี่ยวข้องกับอายุ และไม่ได้เกิดในเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น ปัญหาผมร่วงแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าคนหนุ่มสาวหรือคนสูงอายุ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่ามีปัจจัยบางประการที่ความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค ซึ่งปัจจัยแรกที่สำคัญที่สุดก็คือ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
ในโรคนี้จะมีการเกิดปฏิกิริยาการอักเสบเฉพาะที่ ซึ่งจะจำกัดการเจริญเติบโตของเส้นผมและนำไปสู่ผมร่วง จนกระทั่งเกิดจุดล้าน-เถิกเป็นวงกลมบนศีรษะ แต่ก็สามารถพบได้ในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น คิ้วหรือหนวด
ความบกพร่องทางพันธุกรรมก็มีบทบาทในการเกิดโรคเช่นกัน และผมร่วงเป็นหย่อมมักพบในผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้
นอกจากนี้ ในบางกรณี ผมร่วงแบบนี้อาจเป็นผลมาจากความเครียด ตัวอย่างเช่น ผมร่วงเป็นหย่อมอาจเกิดขึ้นหลังเกิดอุบัติเหตุหรือหลังการสูญเสียผู้เป็นที่รัก และยังอาจเป็นผลมาจากภาวะทุพโภชนาการหรือปัจจัยแวดล้อมที่เป็นอันตราย
ผมร่วงแบบกระจาย
ผมร่วงแบบกระจายไม่ได้ส่งผลต่อบริเวณใดบริเวณหนึ่งบนศีรษะ แต่เป็นการบางลงของผมทั้งศีรษะ ซึ่งโดยปกติแล้วจะสังเกตเห็นได้ประมาณ 3-4 เดือนหลังจากเริ่มเกิดอาการ
โดยปกติ โรคผมร่วงจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อหวีผมหรือสระผม และมองเห็นหนังศีรษะได้ชัดเจนมากขึ้นผ่านผมที่บางลง ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ความเจ็บป่วย เช่น การทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคติดเชื้อ การขาดวิตามิน ไปจนถึงความเครียดรุนแรง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือการรับประทานยา
สาเหตุที่เป็นไปได้ของโรคผมร่วงแบบกระจาย มีดังนี้
โรค
โรคที่อาจนำไปสู่ผมร่วงแบบกระจาย มีดังนี้
- ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป
- โรคติดเชื้อ
- โรคกามโรค เช่น ซิฟิลิส
- โรคลำไส้เรื้อรัง เช่น โรคลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผลและโรคโครห์น
- โรคมะเร็ง
- โรคการกินผิดปกติ เช่น บูลิเมียและอะนอเร็กเซีย
- โรคเบาหวาน
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE)
ยา
การใช้ยาต่อไปนี้อาจทำให้ผมร่วงได้:
- เคมีบำบัดด้วยสารยับยั้งการเติบโตของเซลล์
- ยาแก้ปวด
- สารยับยั้งเอนไซม์ ACE และยาเบต้าบล็อกเกอร์ เช่น ยาลดความดันโลหิต
- ยาลดไขมัน
- ยาลดไขมัน
- ยาไทรอยด์
- เฮปาริน (ยาต้านการแข็งตัวของเลือด)
- ยาปฏิชีวนะ
รังสีรักษาและอุบัติเหตุทางรังสี
ผมร่วงแบบกระจายอาจเกิดจากรังสีรักษาและอุบัติเหตุทางรังสี
- ผมร่วงเกิดจากรังสีไอออไนซ์ (3.8 เกรย์)
- ขนมักจะขึ้นใหม่หลังจากผ่านไปประมาณ 2 เดือน
- ปริมาณรังสีที่สูงกว่า 8 เกรย์ อาจทำให้ผมร่วงอย่างถาวร
สถานการณ์ภายนอก
ผมร่วงแบบกระจายอาจเกิดจากสถานการณ์ภายนอก เช่น
- ความเครียดที่สูงผิดปกติ
- การผ่าตัด การให้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
ผมร่วงแบบกระจายอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- ผู้หญิงบางคนอาจมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ประมาณ 2-4 เดือนหลังการคลอดบุตร ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เนื่องจากความเข้มข้นของฮอร์โมนชนิดนี้จะลดลงหลังการคลอดบุตร และผมที่ขึ้นมากเกินไปในระหว่างการตั้งครรภ์จะหลุดร่วง ความเครียดในระหว่างการคลอดบุตรก็ทำให้ผมร่วงมากขึ้นได้เช่นกัน
- การรับประทานหรือการหยุดยาคุมกำเนิด เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด
- วัยหมดประจำเดือนโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น
โภชนาการ
ภาวะทุพโภชนาการอาจทำให้ผมร่วงได้
- โภชนาการที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
- การลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี
- การขาดโปรตีนหรือธาตุเหล็ก
- การขาดวิตามิน ไบโอติน หรือสังกะสี ซึ่งเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก
เป็นการยากที่จะระบุสาเหตุของผมร่วงด้วยตนเองเนื่องจากมีสาเหตุที่เป็นไปได้มากมาย จึงแนะนำว่า หากสงสัยภาวะดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับผมร่วง
มีปัจจัยหลายประการที่เชื่อกันอย่างผิดๆ ว่าเป็นสาเหตุของผมร่วง
- การสระผม: การสระผมบ่อยไม่ได้ทำให้ผมร่วงมากขึ้น
- การสวมหมวก: การสวมหมวกไม่ได้ทำให้ผมร่วงมากขึ้น
- การสัมผัสกับแสงแดด: การสัมผัสกับแสงแดดมากขึ้นไม่ได้ทำให้ผมร่วง
- การช่วยตัวเอง: การช่วยตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับผมร่วง
- การมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูง: การมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงตามธรรมชาติไม่ได้ทำให้เกิดผมร่วงมากขึ้น
- สารพันธุกรรมของแม่: พันธุกรรมของแม่ไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบต่อผมร่วงโดยเฉพาะ
ทางเลือกในการรักษา
โรคผมร่วงจากพันธุกรรมนั้นรักษาได้ยาก แต่จะสามารถแก้ไขได้โดยการปลูกผม วิธีการที่มีประสิทธิภาพในการรักษาและวิเคราะห์ปัญหาผมร่วงที่มีประสิทธิภาพ มีดังนี้
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์
- ความเสี่ยงในการหลุดร่วงของเส้นผมสามารถลดลงได้โดยการดูแลด้านโภชนาการ
- การออกกำลังกายให้มากขึ้น
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- รับประทานอาหารเมดิเตอเรเนียนที่มีผัก ปลา ถั่ว และน้ำมันมะกอก อยู่ในปริมาณมาก ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก
- เลิกสูบบุหรี่
- ลดน้ำหนัก
- ผมประกอบด้วยเคราติน ซึ่งประกอบด้วยโปรตีนปริมาณมาก ดังนั้นการรับประทานโปรตีนให้มากขึ้นจึงสามารถช่วยป้องกันปัญหาผมร่วงได้
- การบริโภคอาหารที่มีโปรตีน โปรตีนจากผัก (มันฝรั่ง ธัญพืช ถั่วเหลือง) เป็นประโยชน์ต่อโรคผมร่วงมากกว่าโปรตีนจากสัตว์ (เนื้อสัตว์ ไข่ ชีส)
- วิตามินเอ (ผักโขม เนย แครอท บร็อกโคลี) สามารถส่งเสริมการงอกของเส้นผมได้
นอกจากนี้ อาจใช้สารออกฤทธิ์ เช่น ไบคาพิล เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของเส้นผม
อาหารเสริม
- โดยทั่วไป การรับประทานวิตามินรวมอาจช่วยในการแก้ปัญหาผมร่วง ซึ่งจะช่วยเพิ่มสมดุลของวิตามิน เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 12 วิตามีซี และวิตามินดี 3 รวมถึงแร่ธาตุต่างๆ
- การขาดวิตามินดีอาจทำให้วงจรชีวิตของเส้นผมหยุดชะงักและทำให้เส้นผมหลุดร่วงมากขึ้น ดังนั้นผู้ที่ไม่ได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ ซึ่งจะช่วยการสร้างวิตามินดี จึงรับประทานอาหารเสริมเพิ่มเติม โดยจากการศึกษาในปี 2018 พบว่า วิตามินดีมีความสัมพันธ์กับโรคผมร่วงจากพันธุกรรม ดังนั้นการรักษาการขาดวิตามินดีจึงสามารถช่วยให้ผมงอกใหม่ได้ โปรดปรึกษาแพทย์ของคุณเกี่ยวกับการรับประทานวิตามินดีที่ระดับ 800 – 1,000 IU ต่อวัน
- ไบโอติน หรือที่เรียกว่าวิตามินบี 7 หรือวิตามินเอช มีความสำคัญต่อกระบวนการเมตาบอลิซึม และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของผมและเล็บ อาหารเสริมจะทำให้ผมและเล็บได้รับสารอาหารที่จำเป็นทั้งหมด เช่น สังกะสี ซึ่งจะทำให้ผลดูดกหนาและแข็งแรงมากขึ้น และดูเงางามและสุขภาพดี
- สังกะสีช่วยให้หนังศีรษะแข็งแรงและยับยั้งการเปลี่ยนฮอร์โมนเพศชายไปเป็นฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (DHT) สังกะสีจึงทำหน้าที่เปรียบเสมือนตัวขัดขวางการทำงานของ DHT ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้รากผมลีบในผมร่วงจากพันธุกรรม
- ผลิตภัณฑ์จากต้นปาล์มใบเลื่อยมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยาฟินาสเตอไรด์ 5 มก. และดูเหมือนว่าสารสกัดจากต้นปาล์มใบเลื่อยสามารถลดระดับ DHT ซึ่งจะเป็นการเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย นอกจากนี้ อาจรับประทานบร็อกโคลีและน้ำมันเมล็ดฟักทองให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสารสกัดจากต้นปาล์มใบเลื่อย
- โสมถือเป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติบำบัดฟื้นฟูและเป็นสารอาหารสำหรับเส้นผม เมื่อทาภายนอก สารอาหารจะเข้าถึงจากหนังศีรษะผ่านทางรากผมจนถึงปลายผม และสามารถให้ผลเช่นเดียวกันเมื่อนำมาใช้เป็นอาหารเสริม นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าคาเฟอีนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโสม
จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ว่าอาหารเสริมมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาผมร่วง จึงยังเป็นที่สงสัยกันว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะสามารถแก้ปัญหาผมร่วงได้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารเสริมเพิ่มเติมจะไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายและระบบภูมิคุ้มกัน
การดูแลผม
- มีแชมพูที่ได้รับออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับผมร่วง เช่น อัลเปซิน แต่แชมพูสูตรอ่อนโยนสำหรับทารกก็มีประโยชน์ต่อโรคผมร่วงเช่นกัน นอกจากนี้ หากคุณมีผมมัน คุณควรสระผมให้น้อยลงโดยใช้แชมพูอ่อนๆ และเช็ดผมให้แห้งด้วยผ้าขนหนู และหลีกเลี่ยงการถูแรงเกินไป
- ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมหลายชนิดมีส่วนทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์สี การฟอกสี สเปรย์ฉีดผมและการต่อผม หรือการใช้ที่ยืดผมและไดร์เป่าผมเป็นประจำสามารถทำให้ผลหลุดร่วงเพิ่มมากขึ้น แต่หากคุณตัดสินใจที่จะใช้อุปกรณ์ทำความร้อนในการจัดแต่งทรงผมต่อไป เช่น ที่หนีบผมตรงหรือที่ม้วนผม ควรใช้ความร้อนต่ำและรอให้ผมแห้งสนิทเสียก่อน
คุณอาจนวดหนังศีรษะด้วยน้ำมันธรรมชาติ เช่น น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันมะกอก เนื่องจากน้ำมันเหล่านี้มีผลกระตุ้นรากผม โดยควรทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วจึงล้างออกในเช้าวันถัดไป จากการทบทวนผลการศึกษาในปี 2018 นักวิจัยเชื่อว่าน้ำมันมะพร้าวสามารถช่วยป้องกันความเสียหายของเส้นผมที่เกิดจากการดูแลที่ไม่เหมาะสมและการสัมผัสแสงยูวี นอกจากนี้ การนวดศีรษะยังมีประโยชน์ในการเพิ่มการไหลเวียนโลหิตบริเวณหนังศีรษะอีกด้วย ซึ่งการศึกษาในปี 2016 พบว่าการนวดหนังศีรษะเพียง 4 นาทีต่อวันเป็นเวลา 24 สัปดาห์มีผลในทางบวก
- โลชั่นบำรุงผมที่มีส่วนผสมของ Alfatradiol สามารถช่วยลดอัตราของเส้นผมในระยะแอนาเจนได้ เนื่องจาก Alfatradiol เป็นสารออกฤทธิ์ที่ช่วยปกป้องรากผมและสามารถใช้ได้ทั้งกับผมเปียกและผมแห้ง
หรือจะกล่าวว่า
การดูแลเส้นผมเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผม วิธีการเหล่านี้สามารถปกป้องและดูแลเส้นผมแต่มีผลเพียงเล็กน้อยต่อการงอกของเส้นผม แต่ในกรณีของผมร่วงจากพันธุกรรม การรักษาเพียงอย่างเดียวที่จะได้ผลคือวิธีการทางการแพทย์
การปกปิดและการยอมรับปัญหาผมร่วง
บางคนเลือกที่จะปกปิดปัญหาผมร่วงของตนโดยใช้วิก ผมปลอม การต่อผม หรือการหวีผม วิธีการเหล่านี้ได้ผลดีในช่วงเวลาสั้นๆ แต่เมื่อผมร่วงเพิ่มขึ้นวิธีการเหล่านี้ก็จะมีประสิทธิภาพน้อยลง คนดังที่ใช้วิธีการจัดแต่งทรงผมโดยการหวี เพื่อปกปิดปัญหาผมร่วง ได้แก่ โดนัลด์ ทรัมป์ และ นิโคลัส เคจ
อีกทางเลือกหนึ่งคือการยอมรับปัญหาผมร่วง ซึ่งมักทำได้โดยการโกนศีรษะ วิธีนี้เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชายมากกว่า เนื่องจากผมมักถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิง คนดังที่โกนศีรษะเพื่อรับมือกับปัญหาผมร่วง ได้แก่ ไมเคิล จอร์แดน ดเวย์น จอห์นสัน และ เบน คิงสลีย์
การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์
- การรักษาด้วยเลเซอร์ความเข้มต่ำสามารถช่วยเพิ่มความหนาแน่นของเส้นผมในผู้ที่มีปัญหาผมร่วงจากพันธุกรรมหรือผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด วิธีนี้เรียกอีกอย่างว่าการบำบัดด้วยแสงสีแดงและเป็นวิธีที่สามารถส่งเสริมการกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิด แต่การใช้อุปกรณ์เลเซอร์ทั่วไปอาจต้องทำการรักษาหลายครั้งเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน
- ยาไมน็อกซิดิลในรูปแบบหยอดหรือทา มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการผมร่วงในผู้ป่วยประมาณสองในสาม โดยคุณควรทาผลิตภัณฑ์ชนิดของเหลวหรือโฟมนี้ลงบนหนังศีรษะของคุณทุกวัน โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยของการใช้ยาไมน็อกซิดิล ได้แก่ การระคายเคืองหนังศีรษะและสิวในบริเวณที่ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดหัวใจเต้นผิดปกติและมองเห็นภาพซ้อน ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนที่พบได้ยาก
- ยาฟินาสเตอไรด์ สามารถชะลอการหลุดร่วงของเส้นผม และยังสามารถส่งเสริมการงอกของเส้นผมใหม่ โดยฟินาสเตอไรด์ ใช้ได้ผลดีในชายที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี แต่ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยกว่ากำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหรือสัมผัสกับยาชนิดนี้
- การฝังเข็ม หรือ Micro Needling เป็นวิธีการบำบัดผิวหน้าที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการนี้ให้ผลที่คล้ายกับการรักษาผมร่วง โดยผิวหนังจะตอบสนองต่อสิ่งที่เรียกว่า “การบาดเจ็บระดับจุลภาค” ที่เกิดจากเข็มขนาดเล็ก ซึ่งจะกระตุ้นกระบวนการหายและกระตุ้นการผลิตผม ดังนั้นการฝังเข็มจึงสามารถกระตุ้นการผลิตโปรตีนในเซลล์ผิวหนังซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างรากผมใหม่ โดยผมจะขึ้นใหม่อีกครั้งหลังจากการรักษาประมาณ 4-6 ครั้ง
- การฉีดพลาสมาความเข้มข้นสูง (PRP) เข้าสู่หนังศีรษะจะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตในมีปัญหาผมร่วง โดยการนำเลือดที่ผ่านการปั่นด้วยเครื่องปั่นเหวี่ยง เพื่อแยกเกล็ดเลือดแล้วฉีดเข้าไปในหนังศีรษะ
- เมโสเทอราพีสามารถใช้ได้กับอาการผมร่วงทุกประเภทไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด วิธีการนี้สามารถช่วยให้ผมงอกใหม่ได้เมื่อรากผมยังไม่ตาย โดยใช้สารละลายที่ประกอบด้วยส่วนผสมจากธรรมชาติ แม้ว่าวิธีการนี้จะให้ผลดี แต่จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง
- การบริโภคสารต้านแอนโดรเจนหรือเอสโตรเจนเป็นวิธีการที่อาจเป็นประโยชน์ในโรคผมร่วงแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่การใช้สารต้านแอนโดรเจนก็มีผลข้างเคียงเช่นเดียวกับการรักษาด้วยฮอร์โมนอื่นๆ ดังนั้นจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้งาน
- การปลูกผมคือการย้ายผมไปปลูกในบริเวณที่มีปัญหาล้าน-เถิก ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดีในผู้ที่เป็นโรคผมร่วงจากพันธุกรรม และสามารถให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนโดยไม่มีผลข้างเคียง
สรุป
การรักษาทางด้วยวิธีทางการแพทย์นั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันไม่ให้เส้นผมหลุดร่วงมากขึ้น หรือเพื่อให้ผมในบริเวณที่ล้าน-เถิกงอกขึ้นใหม่ และแม้ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก แต่วิธีการเหล่านี้ก็มีค่าใช้จ่ายสูงและอาจมีผลข้างเคียงบางประการ โดยการรักษาผมร่วงที่ได้ผลและเป็นที่ยอมรับทางวิทยาศาสตร์มากที่สุดคือการใช้ยาไมน็อกซิดิล ยาฟินาสเตอไรด์ และการปลูกผม
คำถามที่พบบ่อย
ในผู้ป่วยจำนวนมาก การลุกลามของโรคผมร่วงจากพันธุกรรมในผู้ชายสามารถป้องกันได้ที่ใช้ยาฟินาสเตอไรด์และไมน็อกซิดิล แต่เมื่อหยุดใช้ยา ปัญหาผมร่วงจะกลับมาอีกครั้ง
ยาไมน็อกซิดิลและการปลูกผมเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับปัญหาผมร่วงในผู้หญิง โดยให้ทายาไมน็อกซิดิลในบริเวณที่ต้องการตอนเช้าและตอนเย็น แต่ยาฟินาสเตอไรด์ไม่เหมาะสำหรับปัญหาผมร่วงในผู้หญิง
โรคผมร่วงจากพันธุกรรมในผู้ชายมีสาเหตุหลักจากกรรมพันธุ์ ซึ่งทำให้รากผมมีการตอบสนองไวเกินต่อฮอร์โมน DHT ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้รากผมฝ่อลีบ
โรคผมร่วงที่พบได้มากที่สุดในผู้หญิงก็คือผมร่วงแต่กำเนิด แต่ก็อาจมีอาการผมร่วงกระจายหรือผมร่วงเป็นวงกลมได้เช่นกัน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง หรือความเครียด