คู่มือการปลูกผม

หากคุณกำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกผม (วิธีการ ค่าใช้จ่าย ฯลฯ) แต่กำลังรู้สึกสับสนกับข้อมูลที่มีอยู่มากมายบนอินเทอร์เน็ต PAVICON ACADEMY ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกผมอย่างครอบคลุมครบถ้วนไว้ตรงนี้แล้ว

ไม่ว่าคุณจะกำลังคิดถึงหรือตัดสินใจที่จะเข้ารับการปลูกผมแล้ว คู่มือนี้จะช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจในการแก้ปัญหาผมร่วงของคุณได้ดียิ่งขึ้น

คำจำกัดความและประวัติความเป็นมา

การปลูกผมคือการนำเส้นผมของผู้ป่วยออกจากส่วนหนึ่งของร่างกายและนำไปปลูกในบริเวณที่ล้านเถิก

ดังนั้น การปลูกผมจึงไม่ใช่การปลูกผมเพิ่มขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการย้ายผมที่มีอยู่ไปปลูกให้กระจายอย่างสม่ำเสมอกัน เพื่อให้ปกคลุมบริเวณที่เถิกล้านหรือผมบาง

การปลูกผมนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในญี่ปุ่น ในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยแพทย์ชาวญี่ปุ่นสองท่าน คือ ทามูระและโอคุดะ แต่ในช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้การปลูกผมยังไม่ได้รับความสนใจเท่าไรนัก

ผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร? แม้ว่าจะสามารถปลูกผมได้สำเร็จ แต่ก็สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายแม้ในระยะไกล จึงดูไม่เป็นธรรมชาติเป็นอย่างมาก

การปลูกผมเริ่มเข้ามาในโลกตะวันตกในช่วงปี ค.ศ. 1960 โดย ดร. โอเรนเทรช ได้ทำการปลูกผมให้กับผู้ป่วยเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ แม้ว่าการปลูกผมจะได้รับการพัฒนามาแล้วหลายทศวรรษ (ด้วยวิธีที่เรียกว่า Hair Plug)

ในช่วงปี ค.ศ. 1988 มาซูมิ อินาบะ แพทย์ชาวญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการปฏิวัติวิธีการปลูกผมแบบใหม่ (“FUE” – ซึ่งเราจะกล่าวถึงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในภายหลัง) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดูสวยงามและเป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการปูทางไปสู่การปลูกผมสมัยใหม่แบบแผลเล็ก

ตั้งแต่นั้นมา วิธีการฟื้นฟูเส้นผมก็ได้รับการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทุกวันนี้ การปลูกผมสามารถให้ผลลัพธ์ที่ดูเป็นธรรมชาติโดยไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงแต่อย่างใด

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ร่วมกับการปลูกผมมากขึ้น เช่น การใช้หุ่นยนต์ปลูกผมอย่างเทคโนโลยี ARTAS ที่ทำให้สามารถสกัดกราฟต์ผมออกจากบริเวณ Donor Area ได้โดยอัตโนมัติ จึงทำให้สามารถลดความล้าที่เกิดขึ้นระหว่างการปลูกผมลงได้

ประเภทของผมร่วง

ก่อนที่คุณจะเริ่มคิดถึงวิธีรักษาผมร่วง คุณควรวิเคราะห์สภาพปัญหาผมร่วงของคุณอย่างละเอียดเสียก่อน   และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อนทำการรักษา

ปัญหาผมร่วงสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ :

ผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรม

ผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุดคือโรคผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรเพศชายถึง 80% ผมร่วงประเภทนี้เรียกว่าเป็นผลมาจากพันธุกรรมหรือกรรมพันธุ์ และมักเกิดขึ้นเมื่ออายุระหว่าง 20-30 ปี โดยรากผมจะไวต่อฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (DHT) เป็นอย่างมาก ทำให้เส้นผมมีขนาดเล็กลงและหลุดร่วงได้ง่าย

ในระยะแรก แนวไรผมจะค่อยๆ ถอยร่นสูงขึ้นไป โดยมักจะเริ่มที่ขมับ และอาจดำเนินไปเป็นการเถิกล้านเป็นวงกลมที่กลางศีรษะ จนกระทั่งศีรษะล้านทั้งศีรษะ เหลือไว้เพียงผมด้านหลังและด้านข้างของศีรษะเท่านั้น

การปลูกผมเป็นวิธีการรักษาผมร่วงจากพันธุกรรมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata)

โรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือ Alopecia Areata คือการที่ผมหลุดร่วงเป็นบางพื้นที่ ทำให้มีบริเวณที่ไม่มีเส้นผมหรือผมบางเป็นหย่อม ๆ บนศีรษะของผู้ป่วย

ผมร่วงประเภทนี้อาจมีสาเหตุมาจากการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติไป แต่มักเกิดขึ้นชั่วคราว และในหลายกรณี สามารถแก้ไขได้โดยการรักษาตามอาการ

ผู้ที่ผมร่วงเป็นหย่อมควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจมีโรคอื่นเกิดขึ้นร่วมด้วยได้

ผมร่วงแบบกระจายทั่วศีรษะ

ผมร่วงแบบนี้อาจมีสาเหตุมาจากความเครียด ความแปรปรวนของฮอร์โมน หรือภาวะทุพโภชนาการ

ในหลายกรณี การรักษาอาการผมร่วงแบบนี้สามารถทำได้โดยการแก้ไขสาเหตุของโรค เช่น การเปลี่ยนอาหาร   การปลูกผมไม่เหมาะกับผมร่วงแบบกระจายทั่วศีรษะ ดังนั้นจึงควรปรึกษากับแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

สเกลนอร์วูด-แฮมิลตัน (Norwood-Hamilton Scale)

ผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรมในผู้ชายมีได้ตั้งแต่แนวไรผมถอยร่นเล็กน้อย จนถึงเถิกล้านทั้งศีรษะ   ยิ่งบริเวณที่เถิกล้านมีขนาดใหญ่ ก็จะมีความจำเป็นต้องปลูกผมมาก ระดับของผมร่วงชนิดนี้สามารถวัดได้โดยใช้สเกลนอร์วูด-แฮมิลตัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 ระดับ ตามระดับความรุนแรง แต่ในผู้หญิงอาการผมร่วงโดยทั่วไปจะประเมินตามวิธีของลุดวิก (Ludwig Scale) หรือโอลเซ่น

กราฟต์ผมคืออะไร

กราฟต์ คือ แถบหรือชิ้นเนื้อเยื่อผิวหนังที่มีเซลล์รากผมที่จะนำไปใช้ในการปลูก กราฟต์เหล่านี้มักถูกสกัดมาจากบริเวณ Donor Area ที่อยู่ด้านหลังศีรษะ แต่ก็สามารถใช้เส้นขนจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน โดยในวิธี FUE กราฟต์ผมจะถูกเก็บทีละกราฟต์ ส่วนในวิธี FUT จะมีการตัดแถบเนื้อเยื่อผิวหนังออกจากศีรษะจากนั้นจึงตัดแยกเป็นกราฟต์ผม ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ค่าบริการปลูกผมจะคิดตามจำนวนกราฟต์ผมที่ใช้

ค่าใช้จ่ายในการปลูกผม

คนทั่วไปมักคิดว่าการปลูกผมนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก แต่ผลการศึกษาพบว่า การปลูกผมด้วยวิธี FUE มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 103.04 บาทต่อกราฟต์ ในสหราชอาณาจักร และ 30 บาทต่อกราฟต์ในไทย ดังนั้น การปลูกผมจำนวน 2,000 กราฟต์ ในสหราชอาณาจักรจะเสียค่าใช้จ่าย 206,080 บาท และในไทยจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 60,000 บาทเท่านั้น

แน่นอนว่าการปลูกผมนั้นมีค่าใช้จ่ายที่มาก และไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถจ่ายได้ อย่างไรก็ตาม การปลูกผมเป็นวิธีการรักษาผมร่วงอย่างถาวร และผมที่ปลูกแล้วจะไม่หายไปจากหนังศีรษะอีก ดังนั้น การปลูกผมจึงเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าสำหรับผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่

เนื่องจากในกรณีส่วนใหญ่นั้น ผู้ป่วยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่จะต้องได้รับการปลูกผม ซึ่งถือเป็นศัลยกรรมความงาม ประกันสุขภาพจึงไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้

วิธีการปลูกผม

การปลูกผมสามารถทำได้หลายวิธี โดยวิธีที่ใช้กันมากที่สุดมีดังนี้

  • ในการปลูกผมด้วยวิธี FUE เส้นผมจะถูกสกัดออกจากบริเวณ Donor Area โดยใช้เข็มกลวง จากนั้นจึงตัดแต่ง แล้วปักลงในบริเวณที่ต้องการ และเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการใช้เทคนิค FUE ร่วมกับการสกัดรากผมด้วยหุ่นยนต์ (เช่น เทคนิค ARTAS)   การปลูกผมด้วยวิธีนี้สามารถสกัดเฉพาะผมที่มีโอกาสรอดสูงและใช้เวลาในการผ่าตัดสั้น ส่วนในเทคนิค DHI จะใช้เครื่องมือพิเศษในการเก็บเกี่ยวกราฟต์ผม จากนั้นจึงนำไปปลูกลงบนหนังศีรษะโดยตรงโดยไม่มีการเจาะหนังศีรษะก่อน
  • การปลูกผมด้วยวิธี FUT มีขั้นตอนการสกัดกราฟต์ผมที่แตกต่างจากวิธี FUE โดยจะมีการตัดแถบเนื้อเยื่อออกจาก donor area จากนั้นจึงตัดแยกออกเป็นกอ ดังนั้น วิธีการนี้จึงมักเรียกกันว่า strip method แต่มีขั้นตอนการปลูกที่เหมือนกับวิธี FUE

อายุที่เหมาะสมสำหรับการปลูกผม

       ผู้ป่วยมักมีคำถามว่าควรรอจนกว่าปัญหาผมร่วงจะรุนแรงเต็มที่หรือไม่ ซึ่งไม่มีคำตอบที่ตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละรายว่าเริ่มมีปัญหาตั้งแต่อายุเท่าไร มีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาที่มีหรือไม่ ทั้งนี้ต้องมีการประเมิน Donor Area ควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากปัญหาผมร่วงจากพันธุกรรมมีโอกาสที่จะกินพื้นที่กว้างออกไป แต่ในขณะที่เส้นผมที่ Donor Area มีจำนวนเท่าเดิมตลอดเวลา ถ้ารอให้ปัญหานี้หยุดนิ่งก่อนก็อาจจะจบที่ระยะที่ 7 ที่ผลลัพธ์การปลูกผมอาจออกมาไม่เป็นที่พอใจได้

การปลูกผมเหมาะกับใคร?

การปลูกผมเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาผมร่วงจากพันธุกรรม และต้องการเพิ่มความมั่นใจด้วยการปลูกผม ทั้งนี้ควรจะต้องได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์เพื่อการวินิจฉัย การประเมินโรคร่วมอื่นต่าง ๆ เพื่อทำการวางแผนการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

เส้นผมบางประเภท เช่น ผมหยิก ผมหยักศก หรือผมที่ดกหนา จะให้ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมชาติมากกว่าเส้นผมที่บางและตรง   นอกจากนี้ การปลูกผมในผู้ที่มีผมสีเข้มจะทำได้ง่ายกว่าในผู้ที่มีผมสีอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีสีผิวอ่อน เนื่องจากความแตกต่างของสีผมและเส้นผมจะช่วยให้แพทย์สามารถระบุเซลล์รากผมได้ง่ายขึ้น

ข้อดี-ข้อเสียของการปลูกผม

ข้อดี ข้อเสีย
การปลูกผมช่วยแก้ปัญหาผมร่วงได้อย่างยั่งยืนและยาวนาน มีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย และมักจะทุเลาลงภายในไม่กี่สัปดาห์หลังการปลูกผม
การปลูกผมเป็นหัตถการผ่าตัดประเภทหนึ่ง จึงมีความเสี่ยงบางประการ เช่น การติดเชื้อ แต่ก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ มีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น บวม ตึง เลือดออกเล็กน้อย และรู้สึกชา แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาการเหล่านี้จะดีขึ้นในสัปดาห์แรกหลังการปลูกผม
แม้ว่าการปลูกผมจะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง แต่จำนวนเงินที่ผู้ป่วยแต่ละคนใช้ไปกับการรักษาผมร่วงแบบอื่นๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นก็มีจำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดยคนทั่วไปจะใช้เสียค่ายามิน็อกซิดิลเฉลี่ย 320,000 บาท ตลอดระยะเวลาการรักษา 30 ปี
การปลูกผมในไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 30 บาทต่อกราฟต์ และ 103.04 บาทต่อกราฟต์ในสหราชอาณาจักร ดังนั้นหากทำการปลูกถ่ายโดยใช้กราฟต์ผม 2,500 กราฟต์ ค่าใช้จ่ายจะค่อนข้างสูง
การปลูกผมสามารถเพิ่มความมั่นใจในตนเองได้อย่างมาก
มีความเสี่ยงที่จะได้ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นธรรมชาติ แต่ก็มีโอกาสที่ต่ำมากหากทำการปลูกผมโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง

การปลูกผมเป็นวิธีการรักษาปัญหาผมร่วงที่มีประสิทธิภาพสูง   แม้ว่าจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางประการที่ผู้เข้ารับบริการทุกคนควรทราบก่อนเข้ารับการปลูกผม อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือแม้ทำการปลูกผมไปแล้ว ก็มักจะต้องใช้ยารักษาผมร่วง เช่น ฟินาสเตอไรด์และมิน็อกซิดิล ร่วมด้วย   นอกจากนี้ การปลูกผมมีแนวโน้มที่ดีกว่าวิธีการอื่น ๆ เช่น การทำเมโสเทอราปี หรือ PRP   และนอกจากความเสี่ยงทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเหล่านี้แล้ว ยังมีความเสี่ยงที่ขึ้นกับวิธีการและตำแหน่งอีกด้วย   นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจรับบริการสักหนังศีรษะร่วมกับการปลูกผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกระหม่อม เพื่อให้ผมดูดกหนามากขึ้น

การปรึกษาแพทย์และการดูแลก่อนการรักษา

การปรึกษาแพทย์ปลูกผมก่อนเข้ารับบริการปลูกผมเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก แพทย์จะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ โดยในระหว่างการตรวจเบื้องต้น จะมีการตรวจสอบระดับผมร่วง และทำนายการลุกลามในอนาคต และทำการวิเคราะห์บริเวณที่สามารถใช้เป็น Donor Area การปรึกษาแพทย์ไม่เพียงแต่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาที่เป็นไปได้ แต่ยังทำให้คุณสามารถตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของแพทย์และคลินิกปลูกผม ดังนั้น คุณจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการปรึกษาแพทย์ และถามคำถามต่าง ๆ เพื่อให้คุณทราบถึงความสามารถของแพทย์และคุณภาพของคลินิก

คุณอาจต้องเสียใช้จ่ายในการเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ และเนื่องจากการปลูกผมเป็นหัตถการเพื่อความงามซึ่งไม่ใช่หัตถการที่จำเป็นทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้ ประกันสุขภาพทั้งของรัฐและเอกชนจึงไม่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการปรึกษาแพทย์ไม่ควรเป็นปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้คุณเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ บ่อยครั้งที่การปรึกษาแพทย์ปลูกผมหลายๆ คนเป็นเรื่องที่คุ้มค่า เนื่องจากแพทย์ปลูกผมแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกันมาก ทั้งในด้านราคาและคุณภาพ และเนื่องจากการปลูกผมเป็นหัตถการที่มีความสำคัญ ดังนั้นคุณจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ

ขั้นตอนการปลูกผม

การปลูกผมจะใช้เวลาระหว่าง 3 ถึง 7 ชั่วโมง   โดยแพทย์จะสกัดกราฟต์ผมออกจากบริเวณ donor area ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังศีรษะ จากนั้นจึงทำการเตรียม และปัก/ปลูกลงในบริเวณที่ต้องการ การปลูกผมทั้งในวิธี FUE และ FUT เป็นหัตถการที่ใช้ยาชาเฉพาะที่ และมักมีการโกนผมบริเวณ donor area และหากบริเวณนี้ไม่เหมาะสม อาจใช้เส้นขนจากหนวดในการปลูกผม

ในวิธี FUT หรือ Strip Method แถบผิวหนังที่มีเส้นผมหนาแน่น ซึ่งอาจมีความกว้างถึง 1.5 เซนติเมตร จะถูกตัดออกจากบริเวณ Donor Area จากนั้นจึงเย็บปิดแผล และจะไม่เห็นแผลเป็นเมื่อผมที่อยู่เหนือแผลยาวลงมาปิด หลังจากนำแถบผิวหนังออกแล้ว จึงตัดแยกออกเป็นกราฟต์หรือรากผม โดยการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ จากนั้นแพทย์จะเจาะช่องที่บริเวณที่ต้องการจะปลูกผม แล้วจึงปัก/ปลูกรากผมที่เตรียมไว้ลงในช่องดังกล่าว

การปลูกผมด้วยวิธี FUE มีความแตกต่างจากวิธี FUT ในขั้นตอนการเก็บกราฟต์ผม โดยวิธีนี้กราฟต์ผมจะถูกนำออกจากบริเวณ donor area โดยใช้เข็มกลวงขนาดเล็ก ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 0.8-1.1 มิลลิเมตร ขั้นตอนนี้สามารถทำได้ด้วยมือโดยแพทย์หรือโดยหุ่นยนต์ เช่น หุ่นยนต์ ARTAS รอยแผลที่บริเวณ Donor Area จะถูกปล่อยทิ้งไว้ ซึ่งจะหายได้เองในภายหลัง ดังนั้นในวิธีนี้จึงมีแผลเล็ก ๆ จำนวนมากกระจายอยู่ทั่วบริเวณ donor area ซึ่งแผลจะปิดดีภายใน 2 สัปดาห์

การดูแลหลังการปลูกผม

ในการปลูกผมด้วยวิธี FUT จะสามารถตัดไหมเย็บแผลที่บริเวณ Donor Area ได้หลังจากผ่าตัด 2 สัปดาห์ และเนื่องจากกราฟต์ผมขาดออกซิเจนชั่วคราวในระหว่างการผ่าตัดจึงทำให้ผมที่ปลูกหลุดร่วงหลังการปลูกผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิธี FUT ซึ่งอาจเกิด “Shock Loss” ซึ่งเป็นการหลุดร่วงของเส้นผมบริเวณรอบ ๆ Donor Area หลังการปลูกผม ผู้ป่วยจะสามารถสระผมได้ในวันที่ 2 หลังการผ่าตัด แต่จะต้องสระผมอย่างระมัดระวังและใช้แชมพูอ่อนๆ หลังผ่านไปประมาณ 12 สัปดาห์ เส้นผมจะเริ่มงอกออกจากรากผมที่ปลูก โดยเมื่อผมยาว 2-3 เซนติเมตรแรก ผมที่ขึ้นใหม่อาจมีลักษณะหยิกงอมากกว่าผมส่วนที่เหลือ แต่เมื่อเส้นผมยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ผมก็จะเติบโตและมีรูปทรง โครงสร้าง และสี เช่นเดียวกับบริเวณ Donor Area

หลังการปลูกผม คุณควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมบางอย่างเป็นระยะหนึ่ง เช่น คุณไม่ควรย้อมหรือใช้สารเคมีเป็นเวลา 2 เดือนหลังการผ่าตัด และควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือการเล่นกีฬาในช่วงสัปดาห์แรกถึงหนึ่งเดือนแรก และไม่ควรอาบแดดหรือไปซาวน่าในเดือนแรก

จะเห็นผลลัพธ์สุดท้ายได้เมื่อใด?

โดยส่วนใหญ่แล้ว คุณจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ได้หลังการปลูกผม 6-9 สัปดาห์ และจะเห็นผลลัพธ์สุดท้ายหลังผ่านไป 1 ปี ผมที่ปลูกไปจะเกิดการหลุดร่วงในช่วงเดือนแรก ๆ หลังการปลูก ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Shock Loss และผมใหม่จะเริ่มขึ้นภายในเดือนที่ 5-6

การปลูกผมหนึ่งครั้งสามารถปกคลุมทั้งศีรษะได้หรือไม่

จำนวนกราฟต์ผมที่ต้องใช้ในผู้ป่วยแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของปัญหาผมร่วง ยิ่งมีปัญหาศีรษะเถิกล้านรุนแรงมากเท่าใด จำนวนกราฟต์ที่ต้องใช้ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แพทย์จะทำการประเมินพื้นที่ปัญหาร่วมกับปริมาณเส้นผมที่ Donor Area ที่สามารถสกัดออกมาทำการปลูกผมได้ โดยพิจารณาขนาดของพื้นที่และความหนาแน่นที่ต้องใช้ จากนั้นก็จะวางแผนการปลูกผมร่วมกับผู้ป่วยถึงผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ในแบบต่าง ๆ ที่อาจจะสามารถทำการปลูกผมได้ครอบคลุมพื้นที่ปัญหาทั้งหมด หรืออาจทำการปลูกได้เพียงแต่บางส่วน

สรุป

การปลูกผมและพักฟื้นหลังการปลูกผมไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ด้วยคู่มือนี้ คุณจะสามารถทราบถึงข้อมูลต่าง ๆ ของการปลูกผมได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และดีขึ้น   แต่แน่นอนว่าคู่มือนี้ไม่สามารถใช้แทนการพบแพทย์หรือการขอคำปรึกษาจากแพทย์ปลูกผมได้ เนื่องจากคุณควรได้รับการตรวจเบื้องต้น เพื่อให้แพทย์สามารถให้การวินิจฉัย และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม ไม่แนะนำให้คุณเข้ารับการปลูกผมโดยไม่ผ่านการตรวจเบื้องต้น

การปลูกผมเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาผมร่วงที่ให้ผลลัพธ์ที่ถาวรและยั่งยืน และมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย จึงเป็นวิธีการรักษาปัญหาผมร่วงที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้มีชื่อเสี่ยง เช่น เวย์น รูนีย์ หรือ อีลอน มัสก์   โดยในปี 2019 มีการทำหัตถการปลูกผมประมาณ 182,025 ครั้ง ในสหรัฐอเมริกา/แคนาดา และ 106,949 ครั้ง ในสหราชอาณาจักร   และพบว่าการทำหัตถการปลูกผมในสหรัฐอเมริกา/แคนาดา เพิ่มขึ้น 75% จากปี 2008 และเพิ่มขึ้นถึง 231% ในยุโรป

คำถามที่พบบ่อย

การปลูกผมมีค่าใช้จ่ายเท่าใด?

ค่าใช้จ่ายในการปลูกผมขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของปัญหาผมร่วงและจำนวนเส้นผมบริเวณ donor area ที่สามารถนำออกมาปลูกผมได้เป็นหลัก คลินิกบางแห่งอาจมีข้อเสนอแพ็คเกจปลูกผม โดยไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนกราฟต์ผมที่ใช้

การปลูกผมมีอัตราความสำเร็จมากเพียงใด?

โดยทั่วไปแล้ว การปลูกผมมีอัตราความสำเร็จมากกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาผมร่วงทั่วไป แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะต้องพิจารณา นั่นคือทักษะและประสบการณ์ของแพทย์ที่ทำการปลูกผม ตลอดจนปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคนและจำนวนเส้นผมที่สามารถนำมาปลูกได้

ผลลัพธ์ของการปลูกผมอยู่ได้นานเพียงใด?

กราฟต์ผมมักนำมาจากบริเวณศีรษะด้านหลัง ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นผมมักไม่กลายเป็นเส้นผมที่เล็กลงและหายไปจากหนังศีรษะ เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากฮอร์โมน DHT ที่เกี่ยวข้องกับการหลุดร่วงของเส้นผม กราฟต์ผมที่นำไปปลูกจึงสามารถเจริญเติบโตได้ตามธรรมชาติเมื่อนำไปปลูกในบริเวณอื่น ดังนั้น การปลูกผมจึงเป็นวิธีการแก้ปัญหาผมร่วงอย่างถาวร

การปลูกผมนั้นเจ็บหรือไม่?

การปลูกผมเป็นหัตถการที่ทำโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงรู้สึกเจ็บเฉพาะช่วงที่มีการฉีดยาชา จะไม่รู้สึกเจ็บระหว่างการปลูกผม หลังจากการปลูกผมอาจมีอาการบวมและตึงที่ด้านบนของศีรษะ แต่อย่างไรก็ตาม อาการบวมและตึงเหล่านี้มักจะหายไปภายในสัปดาห์แรก

จะเห็นผลลัพธ์สุดท้ายได้เมื่อใด?

ดยส่วนใหญ่แล้ว คุณจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ได้หลังการผ่าตัด 6-9 สัปดาห์ และจะเห็นผลลัพธ์ขึ้นสุดท้ายหลังผ่านไป 1 ปี ผมที่ปลูกไปจะเกิดการหลุดร่วงในช่วงเดือนแรก ๆ หลังการปลูก ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Shock Loss และผมใหม่จะเริ่มขึ้นอีกครั้งภายในเดือนที่ 5-6

ต้องโกนศีรษะก่อนปลูกผมหรือไม่?

การปลูกผมด้วยวิธี FUT ไม่จำเป็นต้องโกนศีรษะ แต่มักจะแนะนำให้โกนศีรษะในการปลูกผมด้วยวิธี FUE เพื่อให้สามารถสกัดเส้นผมออกได้ดียิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบัน เราสามารถทำการปลูกผมด้วยวิธี FUE ได้โดยไม่จำเป็นต้องโกนผม ซึ่งเรียกว่าการปลูกผมแบบ Long-Hair   แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องเก็บกราฟต์ผมจำนวนมาก จะแนะนำให้โกนผมบริเวณ Donor Area

Dr. Suthida Arayametee

พญ. สุธิดา อารยเมธี

– แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(Doctor of Medicine, Chiang Mai University)

– Grad.Dip.Clin.Sci.(Radiology), Chiang Mai University

– Diploma in Practical Dermatology, Cardiff University, UK

  • Certificate of completion: Fundamental of Platelet Rich Plasma (PRP) Therapy Training Course
  • Certificate of attendance: Implanter Workshop for Hair Transplantation, Faculty of Medicine Siriraj Hospital
  • Certificate of Completion: Medical Weight Management Specialist, School of Antiaging and Regenerative Medicine, Mae Fah Luang University
  • Certificate of attendance RELIFE Master Network Module 3 Advance Workshop for Thread Lifting (Definisse Free Floating)
  • Certificate of attendance Mid-Face Correction & Enhancement using thread, botulinum toxin, filler Workshop by No 1 Trainer
  • Certificate of attendance: RELIFE Master Network Module 2 Advance Workshop for thread Lifting (Definisse Double thread technique with 23-cm-thread)
  • Certificate of attendance: 9th ITCAM Hands-on Cadaveric Dissection of Toxin and Filler Injections and Thread Lift

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์

    ซึ่งเป็นคุกกี้ประเภทที่จดจำสิ่งที่ผู้ใช้บริการเลือกหรือตั้งค่าบนเว็บไซต์เช่น ชื่อบัญชีผู้ใช้ภาษา ฟ้อนต์และรูปแบบการนำเสนอ ข้อมูลต่าง ๆ ที่ตรงความต้องการเฉพาะบุคคลให้แก่ผู้ใช้บริการได้มากขึ้นตามการตั้งค่าที่เลือกไว้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า